งานเทศกาลที่นครพนม



งานนมัสการพระธาตุพนม
                กำหนดจัดขึ้นในวันขึ้น 10 ค่ำถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี ซึ่งถือเป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่งงานหนึ่ง ของชาวนครพนมและจังหวัดใกล้เคียง


งานประเพณีไหลเรือไฟนครพนม (เฮือไฟ)
                จัดขึ้นในวันออกพรรษา คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 การไหลเรือไฟถือเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาจากเทวโลก หลังจากที่พระพุทธองค์ได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่ดาวดึงษ์เพื่อแสดง พระธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดา เมื่อออกพรรษาแล้วพระพุทธเจ้าก็เสด็จลงมาสู่มนุษย์โลก โดยบันไดทิพย์ทั้ง 3 วันนี้เรียกว่า "วันพระเจ้าโปรดโลก" พระองค์เสด็จมา ณ เมืองสังกัสสะ สถานที่นั้นเรียกว่า "อจลเจดีย์" (อ่านว่า อะ-จะ-ละ-เจ-ดี) ทวยเทพทั้งหลายส่งเสด็จ มวลมนุษย์ทั้งหลายรับ เสด็จด้วยเครื่องสักการะบูชามโหฬาร การไหลเรือไฟก็คือการสักการะบูชาอย่างหนี่งในวันนั้น และได้ทำเป็นประเพณีสืบทอดกันมาจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้ยังมีตำนานการไหลเรือไฟที่แตกต่างกันก็ถือว่าทำให้ได้รับอานิสงฆ์เหมือนกัน เดิมเรือไฟทำด้วยท่อนกล้วยหรือไม้ไผ่ต่อเป็นลำเรือยาวประมาณ 5-6 วา ข้างในบรรจุไว้ด้วยขนม ข้าวต้มมัด หรือสิ่งของที่ต้องการจะบริจาคทาน ข้างนอกเรือมีดอกไม้ ธูป เทียน ตะเกียง ขี้ไต้ สำหรับจุดให้สว่างไสวก่อนจะปล่อยเรือไฟ ปัจจุบันมีการจัดทำเรือไฟเป็นรูปแบบต่างๆ ที่ขนาดใหญ่โตขึ้น มีวิธีการประดับตกแต่งให้วิจิตรตระการตามากยิ่งขึ้น เมื่อปล่อยเรือไฟ เหล่านี้ลงกลางลำน้ำโขงภายหลังการจุดไฟให้ลุกโชติช่วงจะเป็นภาพที่งดงามติดตาติดใจผู้พบเห็น ไปตราบนานเท่านาน ไม่มีที่ไหนๆ ในประเทศไทยจะยิ่งใหญ่เหมือนที่จังหวัดนครพนม


การแข่งเรือ (ส่วงเฮือ)
                เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านาน โดยจัดขึ้นระหว่างงานบุญออกพรรษามีความมุ่งหมายให้ ชาวบ้านได้สนุกสนานร่วมกันก่อให้เกิดความสามัคคีความเสียสละ และเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ ระหว่างประชาชนชาวลาวและชาวไทย จัดขึ้นในลำน้ำโขง มีระยะทางแข่งขัน 3 กิโลเมตร มีร่องน้ำ ที่ไหลเชี่ยวยากลำบากมากในการแข่งขัน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ผู้ชนะคือผู้เก่งที่สุดในแถบลุ่มน้ำโขง


ประเพณีแสกเต้นสาก
                เป็นประเพณีของชนเผ่าแสกที่หมู่บ้านอาจสามารถ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองนครพนมประมาณ 4 กม.ประเพณีแสกเต้นสากเป็นการเต้นบวงสรวงเจ้าที่จะเต้นการเป็นประจำทุกปี ในเดือน 3 ขึ้น 2 ค่ำ การเต้นสากนอกเทศกาลจะต้องทำพิธีขอขมาก่อน ของที่ใช้ ได้แก่ หัวหมู เงิน และเหล้า ซึ่งจะทำพิธี ที่ศาลเจ้าประจำหมู่บ้านโดยการเสี่ยงทายไม้สี ถ้าได้สีเดียวกันแสดงว่าเจ้าไม่อนุญาต การเต้น"แสกเต้นสาก" ใช้ไม้สีแดงสลับขาวเรียก "สาก" นำด้วยเสียงกลองจังหวะเร็ว ผู้เต้นจะซอยเท้าถี่ๆ ลงไปตามจังหวะการกระทบไม้คล้ายการเต้นลาวกระทบไม้แต่จะเร็วกว่ามาก


โส้ทั้งปั้น เป็นประเพณีของพวกโซ่ (โส้)
                การเต้นโส้ทั้งปั้นนี้เป็นการรำในงานศพเพื่อที่จะส่งวิญญาณผู้ตายให้ไปสู่สุคติ การเต้นรำมีทั้งชาย และหญิง พวกโซ่เป็นชนเผ่าข่าพวกหนึ่ง ลักษณะผิวคล้ำ มีภาษาเป็นของตนเอง ภาษาที่ใช้คล้ายภาษามอญปนเขมร หมู่บ้านชาวโส้นี้ตั้งอยู่ที่บ้านโพนจาน ตำบลโพนจาน นอกจากนี้ยังมีอยู่ที่อำเภอท่าอุเทน อำเภอนาแก และอำเภอศรีสงคราม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น